หลักสูตรการอบรม
วิสัยทัศน์ พันธกิจ ยุทธศาสตร์
สถาบันวิจัยและประเมินเทคโนโลยีทางการแพทย์
ประวัติความเป็นมา
ภายหลังจากการปฏิรูประบบราชการในปี พ.ศ.๒๕๔๕ ซึ่งมี นายแพทย์ชาตรี บานชื่น เป็นอธิบดีกรมการแพทย์ ในขณะนั้น มีการระดมความคิดเห็นในการพัฒนางานของสำนักพัฒนาวิชาการแพทย์ โดยแยกการปฏิบัติการทางวิชาการ ออกจากงานสนับสนุนพัฒนาวิชาการอย่างชัดเจน โดยปรับโครงสร้างกลุ่มภารกิจวิชาการของสำนักพัฒนาวิชาการแพทย์ จัดตั้งเป็น ”สถาบันวิจัยและประเมินเทคโนโลยีทางการแพทย์” ตามคำสั่งกรมการแพทย์ที่ ๖๙/๒๕๕๐ ลงวันที่ ๖ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๐
ในระยะเริ่มต้น นายแพทย์สมเกียรติ โพธิสัตย์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาวิชาการแพทย์ ในขณะนั้น ทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและประเมินเทคโนโลยีทางการแพทย์ อีกหน้าที่หนึ่งด้วย โดยแบ่ง การปฏิบัติงานออกเป็น ๓ กลุ่มภารกิจ มีกรอบอัตรากำลัง ๒๕ ตำแหน่ง เน้นการปฏิบัติงานทางวิชาการ ได้แก่ การวิจัยแบบพหุสถาบัน การประเมินเทคโนโลยีทางการแพทย์ การพัฒนาแนวทางเวชปฏิบัติ โดยเฉพาะ ที่เกี่ยวข้องกับโรคเบาหวาน และภาวะความดันโลหิตสูง นอกจากนี้ มีการพัฒนารูปแบบการดูแลและภาวะแทรกซ้อนในผู้ป่วยโรคเบาหวาน โดยร่วมกับพื้นที่ในเขตต่าง ๆ เช่น จังหวัดตาก จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดหนองบัวลำภู มีการพัฒนาบุคลากรสาธารณสุข และแพทย์ โดยการจัดอบรมหลักสูตรการตรวจคัดกรองภาวะแทรกซ้อนทางตาในผู้ป่วยโรคเบาหวาน
ต่อมามีกฎกระทรวง แบ่งส่วนราชการกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พ.ศ.๒๕๕๒ ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๖ ตอนที่ ๙๘ ก วันที่ ๒๘ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๒ กำหนดให้สถาบันวิจัยและประเมินเทคโนโลยีทางการแพทย์เป็นส่วนราชการกรมการแพทย์ ลำดับที่ ๑๖ มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
๑. ศึกษา ค้นคว้า วิจัย ประเมิน และพัฒนาเทคโนโลยี และวิชาการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
๒. พัฒนาแนวทางเวชปฏิบัติทางการแพทย์ ด้านการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพทาง การแพทย์
๓. เผยแพร่และถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีทางการแพทย์แก่ผู้เกี่ยวข้อง ให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเป็นรูปธรรม
๔. ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย
วิสัยทัศน์
ศูนย์กลางการพัฒนาองค์ความรู้ ด้านการวิจัยและประเมินเทคโนโลยีทางการแพทย์
พันธกิจ
1. พัฒนาระบบบริหารจัดการ ให้เกิดองค์ความรู้ด้านวิจัยและพัฒนา และประเมินเทคโนโลยี และแนวทางเวชปฏิบัติทางการแพทย์ด้านการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ที่มีคุณภาพ
2. ศึกษา ค้นคว้า วิจัย ประเมิน พัฒนาเทคโนโลยีและแนวทางเวชปฏิบัติทางการแพทย์ ด้านการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ในโครงการที่สำคัญ
3. เผยแพร่และถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีทางการแพทย์แก่ผู้เกี่ยวข้องให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์
4. พัฒนาระบบการจัดการและสนับสนุนองค์ความรู้ด้านจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ รวมทั้งผลักดัน พระราชบัญญัติการวิจัยในมนุษย์
ค่านิยม : IMRTA
I Integrity ซื่อสัตย์
M Moral ยืนหยัด
R Respect เคารพ
T Team work ครบมิตร
A Accountability มีจิตสำนึก
วัฒนธรรมองค์กร ปฏิบัติงานบนพื้นฐานเชิงประจักษ์
อำนาจหน้าที่
1. พัฒนาระบบบริหารจัดการให้เกิดองค์ความรู้ด้านการวิจัยและพัฒนา และประเมินเทคโนโลยีทางการแพทย์ รวมทั้งพัฒนาแนวทางเวชปฏิบัติด้านการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ที่มีคุณภาพ
2. ศึกษา ค้นคว้า วิจัย ประเมิน และพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์ รวมทั้งพัฒนาแนวทางเวชปฏิบัติ ด้านการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ที่เป็นปัญหาทางการแพทย์และสาธารณสุขที่สำคัญ
3. เผยแพร่และถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีทางการแพทย์แก่ผู้เกี่ยวข้องเพื่อการนำไปใช้ประโยชน์
4. พัฒนาระบบการจัดการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ รวมทั้งผลักดันพระราชบัญญัติการวิจัยในมนุษย์
5. ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย
ประเด็นยุทธศาสตร์
1. การส่งเสริม สนับสนุนการสร้างองค์ความรู้ด้านการวิจัยและพัฒนา และประเมินเทคโนโลยีทางการแพทย์ ของกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
2. การพัฒนาองค์ความรู้ด้านการวิจัยและพัฒนา และประเมินเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่มีคุณภาพสามารถนำไปแก้ไขปัญหาทางการแพทย์และสาธารณสุขที่สำคัญตามบริบทของกรมการแพทย์
3. การสร้างความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนา และประเมินเทคโนโลยีทางการแพทย์กับประเทศในประชาคมอาเซียน
4. การส่งเสริม สนับสนุนระบบจัดการ สร้างและ/หรือถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ รวมทั้งผลักดันพระราชบัญญัติการวิจัยในมนุษย์
5. การพัฒนาระบบการบริหารจัดการภายในองค์กรให้เอื้อต่อการดำเนินงาน